ประวัติ ของ ฟรีดริช เอ็งเงิลส์

เกิดวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2363 ที่เมืองบาร์เมิน (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองวุพเพอร์ทาล) เป็นบุตรของนักธุรกิจสิ่งทอที่มั่งคั่ง เขาเข้าศึกษาในวิทยาลัยแต่เรียนไม่สำเร็จเพราะปฏิเสธที่จะเข้าสอบและลาออกมาช่วยบิดาทำธุรกิจ ใน พ.ศ. 2384 เขาถูกเกณฑ์เป็นทหารและไปประจำการอยู่ที่นครเบอร์ลินเป็นเวลาปีเศษ เขาสนใจศึกษาเกี่ยวกับกองทหารและยุทธศาสตร์การรบซึ่งในเวลาต่อมาเขาก็ได้ถ่ายทอดความรู้ทางทหารดังกล่าวให้มากซ์นำมาเขียนทฤษฏีการเมืองว่าด้วยอำนาจรัฐ โดยเขามีโอกาสพบและรู้จักมากซ์เป็นครั้งแรกที่เมืองโคโลญ ใน พ.ศ. 2385 ในขณะนั้นมากซ์เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ไรนิชเชอไซทุง ได้ชักชวนเอ็งเงิลส์ให้ช่วยเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ มิตรภาพที่เริ่มต้นด้วยตัวอักษรทำให้มากซ์และเอ็งเงิลส์เริ่มใกล้ชิดกันทางความคิด และระหว่าง พ.ศ. 2385–2387 เอ็งเงิลส์ได้ส่งข้อเขียนและทัศนะความคิดเห็นที่แหลมคมทางการเมืองและสังคมให้กับหนังสือต่าง ๆ ที่มากซ์จัดทำอยู่ไม่ขาดระยะ

ในปลายปี พ.ศ. 2385 เขาได้ย้ายไปอยู่อังกฤษและทำงานที่โรงงานสิ่งทอของบิดาสาขาเมืองแมนเชสเตอร์ เขาเชื่อว่า ระบบอุตสาหกรรมของอังกฤษที่กำลังพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จะทำให้ชนชั้นกรรมกรมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นทั้งกรรมกรจะเป็นพลังหลักของการปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมใหม่ เขาจึงเข้าสังกัดกลุ่มปัญญาชนสังคมนิยม และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการชาร์ทิสต์ (Chartism) ขณะเดียวกันเขาก็ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสภาวะความเป็นอยู่ของกรรมกรและผลกระทบของชุมชนที่สืบเนื่องจากระบบอุตสาหกรรมใน พ.ศ. 2387 เขาเรียบเรียงผลงานการค้นคว้าเป็นหนังสือสำคัญชื่อ Die Lage derarbeitenden Klasse in England (The Condition of the Working Class in England) โดยเขียนเป็นภาษาเยอรมันและพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในดินแดนเยอรมันและนับเป็นงานเขียนคลาสสิกที่บุกเบิกแนวความคิดสังคมนิยมว่าด้วยชีวิตของกรรมกรอย่างละเอียด มากซ์ชื่นชมหนังสือเล่มนี้มาก เพราะทำให้เขาได้ข้อมูลว่าด้วยลักษณะและวิธีการทำงานของระบบทุนนิยมและบทบาทของอังกฤษในระบอบทุนนิยม

ในกลางปี พ.ศ. 2387 เมื่อเขาเดินทางมาฝรั่งเศสและมีโอกาสพบกับมากซ์ซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ที่ปารีส บุคคลทั้งสองถูกคอกันและในเวลาอันสั้นก็ได้กลายเป็นเพื่อนสนิทและคู่คิดทางปัญญาของกันและกัน และต่อมาเขาก็ได้ถอนตัวออกจากธุรกิจที่รับผิดชอบโดยมาช่วยมากซ์ทำงานค้นคว้าที่บรัสเซลส์และในดินแดนเยอรมัน งานเขียนร่วมกันชิ้นแรกของทั้งสองคือ The German Ideology งานเขียนเรื่องนี้ถือเป็นตำราแบบฉบับที่สำคัญเล่มหนึ่งของสำนักเศรษฐศาสตร์มากซ์

ในต้นปี พ.ศ. 2390 เขาและมากซ์เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มสังคมนิยมที่รู้จักกันในชื่อ "สันนิบาตของผู้รักความเป็นธรรม" (League of the Just) ทั้งเขาและมากซ์ต่างมีบทบาทสำคัญในการชี้แนะทางความคิดและจัดทำโครงการปฏิบัติงานของสันนิบาตฯ ในการประชุมครั้งที่ 2 ของสันนิบาตฯ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2390 ที่ประชุมมีมติให้เขาและมากซ์ร่วมเขียนร่างโครงการที่กำหนดสถานภาพและบทบาท ตลอดจนหลักนโยบายและการดำเนินงานของสันนิบาตเพื่อพิจารณา เขาเป็นผู้ยกร่างโครงการและมากซ์แก้ไขปรับปรุงให้ชื่อว่า หลักการลัทธิคอมมิวนิสต์ (Principles of Communism) แต่ที่ประชุมให้นำออกประกาศในชื่อ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto) ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2391 ก่อนหน้าการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ในฝรั่งเศส 1 สัปดาห์ พร้อมกันนี้สันนิบาตของผู้รักความเป็นธรรมก็เปลี่ยนชื่อเป็น "สันนิบาตคอมมิวนิสต์" (Leagues of the Communist)

เมื่อเกิดการปฏิวัติ พ.ศ. 2391 ทั่วยุโรป เขาได้เดินทางกลับไปบาร์เมนเพื่อเคลื่อนไหวปฏิวัติ แต่ในเวลาอันสั้นก็ต้องลี้ภัยกลับมาอังกฤษอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากการปฏิวัติในดินแดนเยอรมันล้มเหลว

พ.ศ. 2393 เขากลับไปทำธุรกิจโรงงานสิ่งทอที่เมืองแมนเชสเตอร์อีกครั้ง เพราะตระหนักว่าเขาต้องมีรายได้ประจำเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว และจุนเจือมากซ์ที่กำลังศึกษาค้นคว้าเพื่อเขียนหนังสือเรื่อง ทุน (Das Kapital)

พ.ศ. 2407 เขาเป็นผู้แทนสันนิบาตคอมมิวนิสต์เข้าร่วมประชุมใหญ่ครั้งแรกของสมาคมกรรมกรสากล (International Workingmen's Association) ซึ่งต่อมามีชื่อเป็นที่รู้จักกันว่า "องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ 1" เขาได้รับเลือกเป็นกรรมการในคณะมนตรีทั่วไป

ในปลายปี พ.ศ. 2412 บิดาของเขาก็เสียชีวิต เขาจึงขายกิจการโรงงานสิ่งทอทั้งหมดและใน พ.ศ. 2413 ก็อพยพไปลอนดอนเพื่อใช้ชีวิตอิสระและเพื่อดูแลมากซ์ให้มีเวลาเขียนหนังสือเรื่อง ทุน ให้สำเร็จ ภายหลังการมรณกรรมของมากซ์ ใน พ.ศ. 2426 เขาได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายของเขาเกือบ 12 ปี ในการรวบรวมงานเขียนต่าง ๆ ของมากซ์มาเรียบเรียงโดยเฉพาะหนังสือเรื่อง ทุน เล่มที่ 2 และเล่มที่ 3 ซึ่งมากซ์ทำค้างไว้ออกเผยแพร่

ใกล้เคียง

ฟรีดริช ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ ฟรีดริช เอเบิร์ท ฟรีดริช นีทเชอ ฟรีดริชส์ฮาเฟิน ฟรีดริช รัทเซิล ฟรีดริช เฟอร์ดินานด์ ดยุกแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ ฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม ผู้คัดเลือกแห่งบรันเดินบวร์ค ฟรีดริช เวอเลอร์ ฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม โยเซ็ฟ เช็ลลิง

แหล่งที่มา

WikiPedia: ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ http://www.greenleft.org.au/2008/769/39653 http://www.marxist.com/rircontents-5.htm http://www.pathfinderpress.com/s.nl/sc.8/category.... http://simplycharly.com/marx/tristram_hunt_marx_in... http://www.dhm.de/lemo/html/biografien/EngelsFried... http://www.mlwerke.de/me/ http://www.ringmar.net/joomla/index.php?option=com... http://www.gutenberg.org/author/Friedrich_Engels http://libcom.org/library/taxonomy/term/93 http://www.marxists.org/archive/marx/bio/index.htm